
11 Sep ใบกำกับภาษีปลอม
คำว่า “ใบกำกับภาษีปลอม” ได้บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา89 (7) ในเรื่องเบี้ยปรับนั้นเป็นเรื่องลงโทษทางแพ่ง และมาตรา 90/4(7) เป็นเรื่องการลงโทษทางอาญา
มาตรา 89 (7) “นำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม”
มาตรา 90/4 บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
(7) “ ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี ”
ใบกำกับภาษีปลอมในทางแพ่ง หมายถึง ใบกำกับภาษีที่ถูกผู้อื่นปลอมขึ้นและกฎหมายยังให้ความหมายรวมถึงในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี กฎหมายให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
ผู้รับประโยชน์ ในที่นี้ก็คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ถึงความมีตัวตนของผู้ออกใบกำกับภาษีหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี กฎหมายถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม หากผู้ประกอบการมีการนำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษีนั้น
ใบกำกับภาษีปลอมในทางอาญา หมายถึง ใบกำกับภาษีที่ผู้อื่นทำปลอมขึ้น โดยการปลอมทั้งฉบับ หรือ แต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในใบกำกับภาษีที่แท้จริง ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในใบกำกับภาษี
การพิจารณาใบกำกับภาษีปลอมตามความหมายในทางแพ่งและทางอาญา
ทางแพ่ง มาตรา 89(7)
- สถานประกอบการที่จดทะเบียน ไม่มีการประกอบกิจการจริง
- ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี
โทษ ต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7)
ทางอาญา มาตรา 90/4(7)
- เป็นผู้ประกอบการ
- นำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิต
- โดยเจตนา
โทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท (“ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี ….”) มาตรา90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการได้ออกโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากร
ดังนั้น ใบกำกับภาษีปลอม หรือ ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออก จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย
ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ผู้ออกจะต้องเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคลซึ่งไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
- บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (มาตรา 86/13)
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนออกใบกำกับภาษีแทนตามมาตรา 86/2 (ตัวแทนออกใบกำกับภาษี ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน) (มาตรา 86/1(1))
- ผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกนำออกมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5 (การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาด) (มาตรา 86/1(2))
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/6(3)
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการแต่ได้ออกใบกำกับภาษี
โทษและความรับผิดกรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก กับ ใบกำกับภาษีปลอม
1. ออกใบกำกับภาษี (ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้) โดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย
ความรับผิดทางแพ่ง
1.เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้หรือลดหนี้(มาตรา89(6))
2.เสียเงินเพิ่มร้อยละ1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินที่ต้องเสียภาษี (มาตรา89/1) นอกจากนั้น จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้หรือ ลดหนี้(มาตรา86/3)
โทษทางอาญา
ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 7ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท (มาตรา 90/4(3))
2.นำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี
ความรับผิดทางแพ่ง
1.เสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษี (มาตรา89(7))
2.เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีไว้เกิน (มาตรา 89(4)) และเสียภาษีไว้คลาดเคลื่อน (มาตรา 89(3))
3.เสียเงินเพิ่มร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี (มาตรา 89/1)
โทษทางอาญา
นำใบกำกับภาษีปลอมหรือ ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี โดยเจตนา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง7ปี และปรับตั้งแต่2,000บาทถึง200,000บาท (มาตรา 90/4(7))
โทษและความรับผิด กรณีใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออก
ในด้านผู้ออกใบกำกับภาษี
ทางอาญา
– ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท(มาตรา 90/4(3))
ทางแพ่ง
– ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี (มาตรา86/13) และ
– ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี(มาตรา89(6))
ในด้านผู้ใช้ใบกำกับภาษี
ทางอาญา
– ต้องระวางโทษจำคุกระหว่างสามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท (มาตรา 90/4(7))
ทางแพ่ง ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นภาษีซื้อต้องห้าม(มาตรา82/5(5))
– การนำใบกำกับภาษีมาใช้ถือเป็นการยื่นภาษีไว้เกินต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ1เท่า (มาตรา89(4))
– หากทำให้การเสียภาษีคลาดเคลื่อนด้วย ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1เท่า (มาตรา 89(3))
– ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ2เท่า (มาตรา89(7))
– เงินเพิ่ม ร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือน (มาตรา 89/1)